พอร์ตรับแรงดันถูกออกแบบมาสำหรับการติดตั้งในห้องเย็นเพื่อลดแรงดันบนแผ่นฉนวนสำเร็จรูป (ผนังและฝ้าเพดาน) แรงดันบนผนังและฝ้าเพดานเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในห้องเย็น มีผลกระทบทำให้เกิดการหดตัวในช่วงที่ระดับอุณหภูมิลดลง หรือการขยายตัวของอากาศในช่วงที่ระดับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นระหว่างการละลายน้ำแข็ง หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น เมื่อเปิดประตูเพื่อโหลดสินค้า ฯลฯ)
สำหรับห้องเย็นที่ไม่มีการติดตั้งวาล์วปรับแรงดันอากาศ (PRV) เมื่อเกิดความแตกต่างของแรงดันอากาศระหว่างภายในและภายนอกห้องเย็นในระหว่างที่ระดับอุณหภูมิเริ่มลดลงอาจทำให้ผนังและฝ้าเพดานของห้องเย็นนั้นโค้งงอห่อตัวลงได้ เปรียบได้เช่นเดียวกับการที่เราดูดเอาอากาศออกจากถังน้ำมันขนาด 20 ลิตร
ความแข็งแรงของแผ่นฉนวนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความหนาของแผ่นฉนวน ความยาวของแผ่นฉนวน วัสดุที่ใช้ผลิตผิวแผ่นฉนวน ประเภทของเนื้อฉนวน ความแข็งแรงของระบบการต่อ รอยต่อแผ่นฉนวน เป็นต้น ความแข็งแรงของแผ่นฉนวนสำเร็จรูปสามารถวัดได้จาก การนำแผ่นฉนวนมาวางราบและวัดระดับความสามารถในการรับน้ำหนักที่แตกต่างกันบนแผ่นฉนวน โดยทำการวัดค่าการโก่งงอ ค่าการโก่งงอจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความหนาและความยาวของแผ่นฉนวน วิธีนี้ใช้เพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของแผ่นฉนวน ว่าจะปลอดภัยต่อการติดตั้งในห้องเย็นที่มีแรงดันหรือไม่
เมื่อระดับแรงดันอากาศในห้องเย็นลดลงในระหว่างการทำความเย็น ระดับแรงดันด้านนอกที่สูงขึ้นอาจจะทำให้ห้องระเบิดได้ ในทางตรงกันข้าม หากแรงดันด้านในห้องมีมากเกินไปก็อาจทำให้ห้องระเบิดได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด การเคลื่อนที่ของผนังแผ่นฉนวนที่มากเกินไปจะทำให้ซิลแลนท์ปิดรอยต่อของแผ่นฉนวนเกิดความเสียหายได้
ระดับแรงดันอากาศที่แตกต่างกันระหว่างภายในและภายนอกห้องเย็นทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศ อัตราความเร็วของการไหลเวียนของอากาศจะขึ้นอยู่กับความแตกต่างของอุณหภูมิที่เกิดขึ้น ขนาดของวาล์วปรับแรงดันอากาศ (PRV) และความแตกต่างของระดับแรงดันอากาศ
ฟังก์ชั่นการทำงานของวาล์วปรับแรงดันอากาศ (PRV) จะช่วยปรับความสมดุลของแรงดันอากาศทั้งภายในและภายนอกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งความต่างของระดับแรงดันอากาศอาจเกิดขึ้นทุกครั้งที่เปิดประตูห้องเย็น และเมื่อระบบทำความเย็นทำการละลายน้ำแข็งในห้องเย็น เมื่อประตูถูกเปิดออกจำนวนของอากาศที่มีระดับอุณหภูมิสูงกว่าจะกักอยู่ในห้องเย็น เมื่ออากาศเย็นลงแรงดันในห้องจะลดลง การเปิดประตูก็จะยากขึ้นหรืออาจเปิดประตูไม่ได้จนกว่าระดับแรงดันอากาศภายในและภายนอกจะเท่ากัน ความแตกต่างของระดับแรงดันอากาศจะเกิดขึ้นอีกเมื่อระบบละลายน้ำแข็งของระบบทำความเย็นทำงาน
สำหรับห้องเย็นที่ไม่มีการติดตั้งวาล์วปรับแรงดันอากาศ (PRV) ต้องรอเวลาให้ห้องเย็นปรับระดับแรงดันอากาศภายในภายนอกให้อยู่ในภาวะสมดุล บางครั้งแรงดันทำให้โครงสร้างของห้องเย็น และปะเก็นของประตูเกิดความเสียหายได้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความล่าช้าที่ต้องรอให้ห้องเย็นปรับระดับแรงดันเมื่อต้องการเข้าหรือออกจากห้อง
หมายเหตุ
- ความชื้นภายนอกจากอากาศที่มีระดับอุณหภูมิสูงกว่าถูกถ่ายเทเข้าในห้องเย็นผ่านวาล์วปรับแรงดันอากาศ (PRV) อาจทำให้เกิดการเกาะตัวของน้ำแข็งหรือเกล็ดน้ำแข็งรอบๆ วาล์วปรับแรงดันอากาศ (PRV) ได้
- ปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณา เมื่อคำนวณจำนวนวาล์วปรับแรงดันอากาศ (PRV) ที่จะติดตั้ง ได้แก่ อุณหภูมิของสินค้าเมื่อโหลดเข้าห้องเย็น ระดับอุณหภูมิที่ต้องคงไว้ของห้องเย็น จำนวนครั้งที่ต้องเปิดปิดประตู ความชื้นของสภาพแวดล้อม ระดับแรงดันที่รับได้ของแผ่นฉนวน ขนาดของห้องเย็น ฯลฯ
การดูแลและบำรุงรักษา วาล์วปรับแรงดันอากาศ (PRV)
- ตรวจสอบการทำงานของขดลวดที่ให้ความร้อนอย่างสม่ำเสมอ หากทำงานไม่ปกติ เปลี่ยนทันที
- ทำความสะอาดวาล์วปรับแรงดันอากาศ (PRV) และบริเวณใกล้เคียงทุกๆ สัปดาห์ ไม่ให้มีสิ่งสกปรก ป้องกันการก่อตัวของน้ำแข็ง ฯลฯ
- ปิดการทำงานของขดลวดที่ให้ความร้อน เมื่อห้องเย็นไม่มีการใช้งาน หรืออุณหภูมิห้องสูงกว่า 0 องศาเซลเซียส
สำคัญ
- ห้ามมิให้มีสิ่งใดกีดขวางการทำงานของวาล์วปรับแรงดันอากาศ (PRV) อย่างเด็ดขาด
- ห้ามวางสิ่งของด้านหน้าวาล์วปรับแรงดันอากาศ (PRV)